หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

แพทย์-โรงพยาบาล....ความสัมพันธ์และความรับผิดในคดีละเมิด

มีปัญหาที่สงสัยกันว่า เมื่อแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลทำละเมิดต่อผู้ป่วยอันเป็นผลมาจากการดูแลรักษาแล้ว ทางโรงพยาบาลต้องมีความรับผิดชอบหรือไม่อย่างไร การที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้ ต้องมีความรู้หลักของกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับโรงพยาบาลอีกทั้งต้องมีความรู้หลักกฎหมายเรื่องละเมิดที่ได้ถูกบัญญัติไว้ทั้งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) และในพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ

ผู้เขียนขอแบ่งลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และโรงพยาบาลได้ดังต่อไปนี้

1.ข้าราชการ/พนักงานของรัฐกับโรงพยาบาลของรัฐ ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้าง-นายจ้าง และไม่ใช่เรื่องตัวการ-ตัวแทน(ฎีกาที่ 769/2505)เพราะความสัมพันธ์เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะไม่ใช่ความสัมพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ในเรื่องความรับผิดต้องเป็นไปตามหลักของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ที่วางหลักไว้ว่าเมื่อแพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ฝ่ายผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ได้โดยตรง แต่มีทางเลือกสองทาง ทางแรกคือยื่นคำร้องขอต่อหน่วยงานที่แพทย์ผู้นั้นสังกัดอยู่ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่นหากแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขผู้เสียหายก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงสาธารณสุข กับ ทางที่สองคือฟ้องต่อศาลเป็นคดีละเมิดเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานที่แพทย์ผู้นั้นสังกัดอยู่ ซึ่งหากแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขผู้เสียหายก็ต้องฟ้องกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำเลย อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง “ฟ้องหมอไม่ได้แล้วจะฟ้องใคร ”

ข้อสังเกต : ปกติแล้ว โรงพยาบาลของรัฐนั้น ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล(ยกเว้นกรณีของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว) จึงไม่ถือเป็นหน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ผู้เสียหายจึงไม่สามารถเรียกร้องหรือฟ้องโรงพยาบาลได้โดยตรง

2.แพทย์ที่เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มีน้อย ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ GP โดยมีเวลาการทำงานที่แน่นอนแล้วแต่นายจ้างจะกำหนดเวลาในการทำงานให้และมีรายได้ประจำที่แน่นอน เช่น กินเงินเดือนประจำ สำหรับเรื่องความรับผิด หากแพทย์ที่เป็นลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้าง(ซึ่งก็คือทำละเมิดในการดูแลรักษาผู้ป่วย) นายจ้าง (โรงพยาบาลเอกชน/ คลินิก) ต้องร่วมรับผิดด้วยตามหลักที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 425 ที่ว่า “นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น” แต่หากทางโรงพยาบาลได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วกฎหมายก็ให้สิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกจ้างได้ เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 426 บัญญัติไว้ว่า “นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น” โดยมีหลักว่านายจ้างใช้ให้ผู้เสียหายไปเท่าไหร่ ก็สามารถไล่เบี้ยเอาจากลูกจ้างได้เต็มจำนวนเลย

ข้อสังเกต : หากแพทย์ทำนอกเหนือจากงานที่ได้รับมอบหมายหรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า ทำนอกทางการที่จ้างแล้ว เกิดการละเมิดขึ้น นายจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เช่นจ้างแพทย์ให้ตรวจรักษาผู้ป่วย แต่แพทย์ไปชกหน้าผู้ป่วย กรณีอย่างนี้ถือว่าแพทย์ทำนอกเหนือขอบเขตงานที่จ้าง ทางโรงพยาบาลไม่ต้องรับผิด

3.แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนโดยมีการทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์จากเงินที่ผู้ป่วยจ่ายให้ เช่น เป็นในลักษณะที่แพทย์คิด DFจากผู้ป่วยแล้วแบ่งบางส่วนให้กับทางโรงพยาบาล กรณีนี้แพทย์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้าง ดังนั้นจึงไม่เข้าข้อก่อนหน้านี้ คือโรงพยาบาลไม่ต้องรับผิดในฐานะนายจ้าง แต่ต้องใช้หลักกฎหมายเรื่องตัวการตัวแทน คือ ถือว่าแพทย์เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลในการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย และ ถือว่าโรงพยาบาลเป็นตัวการ ดังนั้นหากแพทย์ทำละเมิดในการดูแลรักษาโรงพยาบาล(เอกชน)ก็ต้องร่วมรับผิดด้วยตามหลักการใน ป.พ.พ. มาตรา427 ที่บัญญัติให้นำมาตรา 425 และ 426 มาใช้กับเรื่องตัวการตัวแทนด้วย ก็มีความหมายว่า ตัวการต้องร่วมรับผิด กับตัวแทนในผลแห่งละเมิดจากการที่ตัวแทนได้กระทำไปกิจการที่ตัวการได้มอบหมายให้ทำ และหากตัวการได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายไปแล้วก็สามารถไล่เบี้ยเอากับตัวแทนได้

ข้อสังเกต

ตัวการ หมายถึง บุคคลที่ได้มอบหมายให้อีกบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า ตัวแทนไปทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ อนึ่งการตั้งตัวแทนไม่จำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ คืออาจแต่ตั้งโดยพฤติการณ์หรือตั้งโดยปริยายก็ได้

หากตัวแทนทำการนอกเหนือขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายแล้วเกิดไปละเมิดคนอื่น โดยปกติแล้วตัวการไม่ต้องร่วมรับผิด เช่น ตัวการมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่สำนักงานที่ดิน ขอบอำนาจของตัวแทนก็มีเฉพาะเรื่องการทำสัญญา ตัวแทนจะไปสำนักงานที่ดินอย่างไรก็เป็นเรื่องของตัวแทน การที่ตัวแทนขับรถไปสำนักงานที่ดินไม่ใช่กิจการที่ได้รับมอบหมาย หากระหว่างทางตัวแทนขับรถชนคนโดยประมาท ตัวการก็ไม่ต้องรับผิด เช่นเดียวกับกรณีที่ยกตัวอย่างไปแล้วเรื่องการชกผู้ป่วย ก็ต้องถือเป็นการทำนอกเหนือขอบเขตการเป็นตัวแทน ดังนั้นโรงพยาบาลก็ไม่ต้องรับผิด

4.แพทย์ที่รับอยู่เวรหรือรับตรวจเป็นช่วงเวลาซึ่งมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายให้แน่นอน การทำงานในลักษณะนี้ ไม่ใช่การจ้างแรงงาน แต่อาจเข้าข่ายเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ว่าจ้างซึ่งก็คือสถานพยาบาลไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดซึ่งผู้รับจ้างได้ก่อขึ้น แต่ศาลอาจเห็นว่าเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะตัวการ- ตัวแทนด้วยทำให้ผู้ว่าจ้างต้องร่วมรับผิดตามหลักของ ป.พ.พ. มาตรา427ที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว

5.แพทย์เปิดคลินิก ผู้ป่วยมาตรวจที่คลินิกแต่แพทย์มาขอใช้สถานที่ของโรงพยาบาลในการทำหัตถการ เช่น มาขอใช้ห้องผ่าตัด โดยทางโรงพยาบาลคิดค่าบริการในส่วนนั้นจากผู้ป่วย กรณีนี้ไม่ถือว่าแพทย์เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่เรื่องการจ้างทำของและไม่ใช่เรื่องตัวการ-ตัวแทน ดังฎีกาที่256/2542 ซึ่งเป็นเรื่องที่ ผู้เสียหาย(โจทก์)ติดต่อรักษากับแพทย์(จำเลยที่1)โดยตรงที่คลินิกและได้ตกลงเข้าผ่าตัดในโรงพยาบาล(จำเลยที่2) โดยแพทย์คนดังกล่าวเป็นผู้ผ่าตัดให้ ผู้เสียหายได้จ่ายเงินให้โรงพยาบาลด้วย ปรากฏว่าแพทย์(จำเลยที่1)ผ่าตัดผิดพลาดละเมิดต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงฟ้องแพทย์เป็นจำเลยที่1 และฟ้องโรงพยาบาลเป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่1 ทำละเมิดต่อผู้ป่วย แต่จำเลยที่2โรงพยาบาล)ไม่ต้องรับผิด เพราะฟังไม่ได้ว่าเป็นนายจ้างหรือตัวการ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าที่ศาลวินิจฉัยเช่นนั้นก็เพราะในกรณีนี้ผู้ป่วยมีเจตนาที่จะรักษากับแพทย์เป็นการเฉพาะเจาะจงไม่ได้มีเจตนาที่จะมาใช้บริการของโรงพยาบาลเป็นการเฉพาะเจาะจง การที่ต้องมาใช้บริการที่โรงพยาบาลก็เพราะต้องทำตามที่แพทย์ประสงค์ แพทย์จึงไม่ใช่ตัวแทนของโรงพยาบาล ซึ่งแตกต่างจากกรณีในข้อ3 ที่ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะมาใช้บริการรักษาพยาบาลของทางโรงพยาบาลเป็นการเฉพาะเจาะจง โรงพยาบาลจึงมีหน้าที่ต้องคัดสรรแพทย์ที่มีความสามารถเป็นตัวแทนในการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย



ข้อควรรู้เกี่ยวกับเรื่องการจ้างแรงงาน- การจ้างทำของ

ที่ต้องมีการแยกความสัมพันธ์ทั้งสองแบบนี้ออกมาเพราะมีความแตกต่างในทางกฎหมายหลายประการที่สำคัญคือหากมีลักษณะที่เข้าข่ายการจ้างทำของแล้วกฎหมาย (ป.พ.พ. มาตรา 428) บัญญัติไว้ว่า ผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดหากผู้รับจ้างทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก แม้ได้ทำไปในงานที่เกี่ยวกับรับจ้างนั้น (แต่ก็มีกรณียกเว้นที่ผู้ว่าจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยซึ่งผู้เขียนขอไม่กล่าวในที่นี้) ผู้เขียนขอสรุปและเปรียบเทียบลักษณะการจ้างทั้งสองแบบไว้พอสังเขปดังนี้

การจ้างทำของคือการที่ผู้ว่าจ้าง จ้างให้ผู้รับจ้าง ทำงานให้โดยมุ่งในเรื่องผลของงาน ไม่ได้สนใจเรื่องวิธีการทำงาน เช่น การว่าจ้างให้จิตรกรวาดรูปให้ การจ้างให้ตัดเสื้อผ้า จ้างให้ซ่อมรถ การจ้างแท็กซี่ ให้ไปส่งที่จุดหมายปลายทางที่เรากำหนด

กรณีจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้าง แต่การจ้างทำของนั้นผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้าง เช่นจ้างให้เขาวาดรูปให้ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับให้ผู้รับจ้างทำงานตอนไหน ผู้รับจ้างจะทำงานตอนไหนและจะใช้วิธีการทำงานอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ขออย่างเดียวคือผลงานต้องออกมาตามที่ได้ตกลงกันไว้และทันเวลา



ปัญหาน่าคิด

กรณีการจ้างแพทย์ในโรงพยาบาลภาคเอกชนในบางกรณี อาจมีข้อถกเถียงว่าจะเข้าข่ายเป็นสัญญาประเภทใด ซึ่งบางครั้งก็วินิจฉัยยากเพราะมีความซับซ้อนกำกวมอยู่ในบางกรณี ซึ่งคงต้องรอให้มีคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อวางแนวการวินิจฉัยต่อไป แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่าในกรณีของแพทย์ที่มาปฏิบัติงานให้สถานพยาบาลในภาคเอกชน ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์ของการจ้างในแบบใด จะเป็นการจ้างแรงงานหรือจ้างทำของหรือเป็นการแบ่งผลประโยชน์กัน ก็มักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะตัวการ-ตัวแทนร่วมอยู่ด้วยเสมอ (มีข้อยกเว้นบ้าง เช่น กรณีที่ผู้ป่วยไปหาแพทย์ที่คลินิกแล้วแพทย์นำผู้ป่วยมาใช้บริการห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลโดยแพทย์ผู้นั้นเป็นผู้ทำการผ่าตัดให้) ดังนั้นหากแพทย์ทำละเมิดในการดูแลรักษาผู้ป่วย ทางสถานพยาบาลก็ต้องร่วมรับผิดด้วย เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับ คำพิพากษาฎีกาที่ 4223/2542 เป็นเรื่องที่ห้างสรรพสินค้าได้ว่าจ้าง (จ้างทำของ) ให้บริษัทรักษาความปลอดภัยมาดูแลรถยนต์ของลูกค้าที่จอดในลานจอดรถของห้าง แต่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทรักษาความปลอดภัย(ไม่ใช่พนักงานของห้าง) ไม่ยอมตรวจบัตรผ่านเข้าออกโดยเคร่งครัด รถของลูกค้าจึงถูกลักขโมยไป ผู้เสียหายจึงมาฟ้องเรียกค่าเสียหายเอากับห้างฯ และบริษัทรักษาความปลอดภัย ถ้าว่ากันตรงๆตามกฎหมาย ความสัมพันธ์ของห้างฯกับบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องของการจ้างทำของไม่ใช่การจ้างแรงงาน แต่ความสัมพันธ์ของยามหรือรปภ.กับบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องของการจ้างแรงงานดังนั้นหากลูกจ้าง(รปภ)ทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้าง(บริษัทฯ)ก็ต้องร่วมรับผิด และเมื่อห้างฯเป็นเพียงผู้จ้างทำของ โดยปกติก็ไม่ต้องร่วมรับผิดในกรณีที่ผู้รับจ้างทำละเมิด แต่คดีนี้ศาลได้พิพากษาให้ห้างต้องร่วมรับผิดด้วยโดยศาลเอาเรื่องตัวการ- ตัวแทนมาใช้กับกรณีนี้ โดยถือว่าห้างฯได้มอบหมายให้บริษัทฯเป็นตัวแทนของห้างในการดูแลความปลอดภัยของรถลูกค้า





นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com

ศพกับสิทธิยึดหน่วง

คงมีหลายคนสงสัยว่า กรณีผู้ป่วยมารักษากับทางโรงพยาบาลแล้วสุดท้ายถึงแก่ความตายโดยยังไม่มีการชำระค่ารักษาพยาบาล เมื่อญาติมาขอรับศพเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลโดยไม่ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้ครบถ้วน ทางโรงพยาบาลจะยึดหน่วงศพไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลจนครบถ้วนได้หรือไม่ ก่อนตอบปัญหานี้ขอทำความเข้าใจเรื่องสิทธิยึดหน่วง ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมาตรา 241 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์ของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ ............” ตัวอย่างเช่น นายแดงนำนาฬิกาไปให้นายขาวซ่อม นายขาวซ่อมเสร็จจนใช้การได้ดี นายแดงไม่ยอมชำระค่าจ้าง นายขาวจึงมีสิทธิยึดหน่วงนาฬิกาเรือนนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายขาว

เรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อหลายปีก่อนมีอยู่ว่า หญิงคนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัดแต่มาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งถูกรถชนอาการสาหัส พลเมืองดีจึงนำส่งโรงพยาบาลเอกชน รักษาอยู่สองวันก็เสียชีวิต แม่ของผู้ตายซึ่งอยู่ต่างจังหวัดรู้ข่าวจึงมาขอรับศพจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลทวงเงินค่ารักษาพยาบาล แม่ของผู้ตายไม่มีให้เพราะมีฐานะยากจน โรงพยาบาลจึงไม่ยอมมอบศพให้ จึงเกิดปัญหาว่าโรงพยาบาลสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้หรือไม่ ท่านอาจารย์เพ็ง เพ็งนิติ ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาละเมิด ที่สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาให้ความเห็นว่า ค่าจ้างการรักษาพยาบาลเป็นหนี้ที่เกิดในขณะที่ผู้ตายยังมีสภาพบุคคล ( ยังไม่มีสภาพเป็นทรัพย์สิน) โรงพยาบาลย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้ สรุปก็คือ “หนี้ค่ารักษาพยาบาลคน เจ้าหนี้อ้างสิทธิยึดหน่วงไม่ได้” หากไม่มอบศพให้ญาติเขาไปบำเพ็ญกุศล ก็ถือเป็นละเมิด

ก็มีผู้สงสัยถามต่อไปอีกว่า แล้วหากหนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ถึงแก่ความตายแล้ว จะสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงได้หรือไม่ เช่น สมมติว่า แม่มาขอรับศพลูกแต่ เห็นว่าศพไม่สวย จึงจ้างทางโรงพยาบาลให้ช่วยแต่งศพ (เสริมสวย) ให้ แต่สุดท้ายไม่ยอมจ่ายค่าแต่งศพ อย่างนี้ทางโรงพยาบาลจะสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงศพได้หรือไม่ อาจารย์ เพ็ง กล่าวว่า ยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจะถือว่าศพเป็นทรัพย์สิน การที่ไม่มอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศล ก็น่าจะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะขัดความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่รู้เรื่องนี้แล้วคงรู้สึกเวทนาและคงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโรงพยาบาล อีกทั้งน่าจะเข้าข่ายที่ว่าหนี้ค่าแต่งศพไม่เหมาะสมที่จะมาใช้สิทธิยึดหน่วงดังที่ มาตรา242 บัญญัติว่า “สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย”



สรุป

1.ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่บ่งชี้ชัดว่า ศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่

2.โรงพยาบาลใช้สิทธิยึดหน่วงศพในกรณีที่ผู้ตายเป็นหนี้ค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นั้นยังเป็นคนอยู่

3.กรณีที่โรงพยาบาลเป็นเจ้าหนี้ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนนั้นถึงแก่ความตายแล้ว เช่น หนี้ค่าตกแต่งศพ ก็ไม่สามารถยึดหน่วงศพได้เพราะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน




นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com
ให้คุณรู้กฎหมายการแพทย์ได้ง่ายขึ้น


--------------------------------------------------------------------------------
email : thaimedlaw@yahoo.com
ภาพของท่าน สวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจน เราขออนุญาตนำภาพของท่านมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะคะ หากขัดข้องประการใด รบกวนโทร 089-1326770