คงมีหลายคนสงสัยว่า กรณีผู้ป่วยมารักษากับทางโรงพยาบาลแล้วสุดท้ายถึงแก่ความตายโดยยังไม่มีการชำระค่ารักษาพยาบาล เมื่อญาติมาขอรับศพเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลโดยไม่ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้ครบถ้วน ทางโรงพยาบาลจะยึดหน่วงศพไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลจนครบถ้วนได้หรือไม่ ก่อนตอบปัญหานี้ขอทำความเข้าใจเรื่องสิทธิยึดหน่วง ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมาตรา 241 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์ของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ ............” ตัวอย่างเช่น นายแดงนำนาฬิกาไปให้นายขาวซ่อม นายขาวซ่อมเสร็จจนใช้การได้ดี นายแดงไม่ยอมชำระค่าจ้าง นายขาวจึงมีสิทธิยึดหน่วงนาฬิกาเรือนนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายขาว
เรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อหลายปีก่อนมีอยู่ว่า หญิงคนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัดแต่มาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งถูกรถชนอาการสาหัส พลเมืองดีจึงนำส่งโรงพยาบาลเอกชน รักษาอยู่สองวันก็เสียชีวิต แม่ของผู้ตายซึ่งอยู่ต่างจังหวัดรู้ข่าวจึงมาขอรับศพจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลทวงเงินค่ารักษาพยาบาล แม่ของผู้ตายไม่มีให้เพราะมีฐานะยากจน โรงพยาบาลจึงไม่ยอมมอบศพให้ จึงเกิดปัญหาว่าโรงพยาบาลสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้หรือไม่ ท่านอาจารย์เพ็ง เพ็งนิติ ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาละเมิด ที่สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาให้ความเห็นว่า ค่าจ้างการรักษาพยาบาลเป็นหนี้ที่เกิดในขณะที่ผู้ตายยังมีสภาพบุคคล ( ยังไม่มีสภาพเป็นทรัพย์สิน) โรงพยาบาลย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้ สรุปก็คือ “หนี้ค่ารักษาพยาบาลคน เจ้าหนี้อ้างสิทธิยึดหน่วงไม่ได้” หากไม่มอบศพให้ญาติเขาไปบำเพ็ญกุศล ก็ถือเป็นละเมิด
ก็มีผู้สงสัยถามต่อไปอีกว่า แล้วหากหนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ถึงแก่ความตายแล้ว จะสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงได้หรือไม่ เช่น สมมติว่า แม่มาขอรับศพลูกแต่ เห็นว่าศพไม่สวย จึงจ้างทางโรงพยาบาลให้ช่วยแต่งศพ (เสริมสวย) ให้ แต่สุดท้ายไม่ยอมจ่ายค่าแต่งศพ อย่างนี้ทางโรงพยาบาลจะสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงศพได้หรือไม่ อาจารย์ เพ็ง กล่าวว่า ยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจะถือว่าศพเป็นทรัพย์สิน การที่ไม่มอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศล ก็น่าจะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะขัดความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่รู้เรื่องนี้แล้วคงรู้สึกเวทนาและคงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโรงพยาบาล อีกทั้งน่าจะเข้าข่ายที่ว่าหนี้ค่าแต่งศพไม่เหมาะสมที่จะมาใช้สิทธิยึดหน่วงดังที่ มาตรา242 บัญญัติว่า “สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย”
สรุป
1.ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่บ่งชี้ชัดว่า ศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่
2.โรงพยาบาลใช้สิทธิยึดหน่วงศพในกรณีที่ผู้ตายเป็นหนี้ค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นั้นยังเป็นคนอยู่
3.กรณีที่โรงพยาบาลเป็นเจ้าหนี้ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนนั้นถึงแก่ความตายแล้ว เช่น หนี้ค่าตกแต่งศพ ก็ไม่สามารถยึดหน่วงศพได้เพราะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน
นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com
ให้คุณรู้กฎหมายการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
--------------------------------------------------------------------------------
email : thaimedlaw@yahoo.com