หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

.

                       

คำที่ห้ามใช้ในการโฆษณา

.

แพทย์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความคุ้มครอง

บทความนี้เป็นบทความที่สืบเนื่องจากบทความเรื่อง แพทย์กับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ขอให้ผู้อ่านได้อ่านบทความเรื่องดังกล่าวก่อน สำหรับเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นผลมาจากมาตราที่ 5และ 6 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งมีใจความดังนี้

            มาตรา5 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
           

มาตรา6 ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้

จากมาตราดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าในกรณีที่แพทย์ที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยแล้วหากเป็นการทำละเมิดต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ไม่สามารถฟ้องแพทย์ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง หากจะฟ้องต้องฟ้องหน่วยงานที่แพทย์ผู้นั้นสังกัดอยู่
แต่ในทางปฏิบัติ มาตรา5 ดังกล่าวมีเงื่อนไขในการคุ้มครองแพทย์ที่เราควรทราบดังนี้
1.แพทย์ผู้นั้นจะต้องเป็น เจ้าหน้าที่ ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ให้นิยามไว้ว่า หมายถึงข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือในฐานะอื่นใด จากความหมายข้างต้น แพทย์ที่เป็นข้าราชการก็ถือเป็นเจ้าหน้าที่ ดังนั้นหากกระทำตามหน้าที่แล้วก็ย่อมได้รับความคุ้มครอง
2.มีการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลักเกณฑ์ของการกระทำละเมิดต้องยึดถือตามของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420  ดังต่อไปนี้
             - ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
             - กระทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย
             - บุคคลอื่นได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างใด
                อย่าง หนึ่ง
              - มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลของการกระทำ
หมายเหตุ : สามารถอ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในบทความเรื่อง หลักเกณฑ์ความรับผิดเพื่อละเมิดตามป...มาตรา420” (code 019)
3.เป็นการทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ เงื่อนไขในข้อนี้มีความสำคัญอย่างมากเพราะหากการกระทำที่เป็นละเมิดนั้นไม่ได้ทำในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องให้แพทย์ใช้สินไหมทดแทนได้โดยตรง ปัญหาจึงมีอยู่ว่าการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่มีขอบเขตครอบคลุมแค่ไหน ในเรื่องนี้ได้มีแนวคำพิพากษาฎีกาวางหลักไว้ว่า การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกรณีที่กระทำตามอำนาจหน้าที่ของตนในระหว่างเวลาทำการของตนเท่านั้นแต่กินความถึงกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ของราชการแม้ว่าจะไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะในเรื่องนั้นและแม้ว่าจะทำหน้าที่ดังกล่าวนอกเวลาราชการ  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าในง่ายขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาดังนี้
ฎีกาที่1811-1812/2516 เรื่องมีอยู่ว่านายทหารผู้หนึ่ง ปกติไม่มีหน้าที่ขับรถแต่วันหนึ่งได้ถูกผู้บังคับบัญชาใช้ให้เอารถยนต์ที่ใช้ในกิจการทหารไปล้างที่ปั๊มน้ำมันเมื่อล้างรถเสร็จระหว่างขับรถกลับได้ขับรถแวะไปเอาของที่บ้านพี่สาวของตน ระหว่างทางนั้นได้ขับรถไปชนรถบรรทุกนักเรียนจนมีผู้เสียชีวิต ในเรื่องนี้ศาลได้วินิจฉัยว่าแม้จำเลยไม่ได้มีหน้าที่ขับรถ แต่การนำรถไปล้างโดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ดังกล่าวถือว่าเป็นการทำในกิจการทหาร .......
ข้อสังเกต แม้ฎีกาข้างต้นจะไม่ได้วินิจฉัยไว้โดยตรงว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่เพราะขณะนั้นยังไม่ได้มี พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539ออกมาใช้บังคับแต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าศาลมีแนวคิดว่า แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหน้าที่นั้นโดยตรง  แต่หากได้กระทำไปโดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ ก็ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว
กรณีอื่นๆที่ถือว่าเป็นการทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น บุรุษไปรษณีย์ขับรถไปส่งจดหมายแล้วชนคนอื่นโดยประมาทเลินเล่อ  พนักงานสอบสวนทำร้ายผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ   ตำรวจเห็นคนจอดรถยนต์บนทางเท้าจึงขอดูใบขับขี่ ตำรวจคนดังกล่าวแย่งปืนและทำร้ายเจ้าของรถ ถือว่าทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่
สำหรับกรณีที่แพทย์ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยแล้วเกิดทำละเมิดต่อผู้ป่วยนั้น มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าถือเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
กรณีตัวอย่างที่ถือว่าไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เช่นจำเลยเป็นบุรุษไปรษณีย์จอดรถเก็บจดหมายตามตู้ไปรษณีย์ ตำรวจจราจรสั่งให้จอดรถให้ถูกที่ จำเลยด่าและทำร้ายร่างกายตำรวจ การด่าและขัดขวางการจับกุมเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับกรมไปรษณีย์ กรมไปรษณีย์ไม่ต้องรับผิด  กรณีที่แพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วยแล้วเกิดไปทำร้ายร่างกายผู้ป่วย เช่น ชกต่อยหรือทำการข่มขืนผู้ป่วย ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่
ปัญหาน่าคิด
            ถาม: กรณีแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์ที่อยู่ประจำในรพ.มารับตรวจผู้ป่วยหรืออยู่เวรในลักษณะ part-time เองโดยไม่ใช่การส่งตัวมาช่วยราชการ หากแพทย์คนดังกล่าวทำการตรวจรักษาแล้วเกิดทำละเมิดต่อผู้ป่วย ผู้เสียหายต้องฟ้องแพทย์หรือฟ้องหน่วยงานของรัฐ
            ตอบ: ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือกรณีดังกล่าวถือว่าแพทย์ผู้นั้นเป็น เจ้าหน้าที่ ตามนิยามของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่  กรณีดังกล่าวยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ แต่ก็มีกรณีที่อาจจะพอเทียบเคียงกันได้ ดังนี้ เคยมีปัญหาว่าลูกจ้างที่รับงานเป็นครั้งคราวของ ร.ส.พ.ตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือไม่ จึงมีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ลูกจ้างเข้าข่ายเป็น เจ้าหน้าที่ ต้องได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานเป็นประจำต่อเนื่องมีการกำหนดอัตราเงินเดือน การเลื่อนขั้นเงินเดือน การลงโทษทางวินัยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ลูกจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ว่าจ้างให้ปฏิบัติงานในลักษณะเป็นครั้งคราวเฉพาะงาน ไม่ว่าจะมีสัญญาจ้างหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้มีการบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงาน ลูกจ้างดังกล่าวไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หากทำงานตามที่จ้างแล้วเกิดทำละเมิด ความรับผิดก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงสัญญาจ้างและต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับ ( ข้อสังเกต: ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยของศาล จึงไม่ผูกมัดว่าศาลจะต้องเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว เพราะฉะนั้นหากกรณีดังกล่าวมีข้อพิพาทกันถึงชั้นศาล ศาลก็อาจมีความเห็นแตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ศาลจะมีความเห็นตรงกันกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา)
กรณีตามปัญหาผู้เขียนเห็นว่าแพทย์ที่รับงานในลักษณะ part-timeในรพ.ของรัฐ ไม่น่าจะถือเป็นเจ้าหน้าที่ แพทย์คนดังกล่าวจึงไม่ถูกคุ้มครองตามมาตรา5 ของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังนั้นหากทำละเมิดต่อผู้ป่วย ผู้ป่วยก็สามารถฟ้องให้แพทย์ผู้นั้นใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง และฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้ (อ่านมาตรา6ประกอบ)
ถาม: แพทย์ที่ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นข้าราชการแต่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็น พนักงานของรัฐ จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา5 ของพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539หรือไม่
ตอบ: แม้ไม่ได้มีฐานะเป็นข้าราชการแต่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งไม่ว่าจะในฐานะ พนักงานของรัฐ หรือลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานเป็นประจำและต่อเนื่อง มีอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือน มีการลงโทษทางวินัยหากทำผิด ก็น่าจะเข้าข่ายเป็น เจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้วซึ่งหากกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องแพทย์ให้ใช้ค่าสินไหมได้ ต้องเรียกร้องจากหน่วยงานรัฐแทน
สรุป
กรณีที่แพทย์ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐได้ทำการปฏิบัติหน้าที่โดยทำการตรวจรักษาผู้ป่วย หากเกิดความเสียหายต่อผู้ป่วยซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจรักษา ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องให้แพทย์รับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรง ถ้าจะฟ้องต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐที่แพทย์ผู้นั้นสังกัดอยู่ หากผู้เสียหายฟ้องแพทย์โดยตรง แพทย์ก็สามารถยกมาตรา5 ขึ้นตัดฟ้องและขอให้ศาลยกฟ้องได้ แต่หากแพทย์ผู้นั้นไม่ได้ทำในการปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ เขาก็ต้องรับผิดในผลจากการที่ตนทำละเมิดเป็นการส่วนตัว ผู้เสียหายฟ้องแพทย์ให้รับผิดได้โดยตรงแต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้
อนึ่งกฎหมายดังกล่าวไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายในการฟ้องแพทย์เป็นจำเลยในคดีอาญา หรือใช้สิทธิในการร้องเรียนต่อแพทยสภา


นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“Euthanasia”คืออะไร?

            คำว่า“Euthanasia”มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำคือ “eu” ซึ่งแปลว่า good และ “thanatos” ซึ่งแปลว่า death เมื่อรวม2 คำนี้เข้าด้วยกันเป็น good death  มีผู้แปลเป็นไทยว่า การตายอย่างสงบหรือ การตายโดยสงบโดยจะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความหวังในการรักษาและอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต (terminally ill)
            Euthanasia นี้มีการใช้ผสมกับคำอื่นๆอีกเกิดเป็นคำขึ้นหลายคำเช่น active euthanasia , passive euthanasia  โดยมีผู้ให้คำจำกัดความแตกต่างกันอยู่บ้าง  ในที่นี้ผู้เขียนขอให้คำจำกัดความตามที่ได้รับการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ดังนี้
            “Active euthanasia” หรือ “mercy  killing” หมายถึง  การกระทำต่อเนื้อตัวผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยมีเจตนาให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย เช่น การฉีดยาเกินขนาด  การฉีดยาพิษ  การถอดเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
            “Passive euthanasia” หมายถึง  no further measure  คือการปล่อยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตตายโดยไม่มีการกระทำต่อเนื้อตัวของผู้ป่วย ไม่มีการใช้เครื่องมือหรือยาเพื่อยืดการตายของผู้ป่วยออกไป เช่นการไม่ทำ CPR , การไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ
“voluntary euthanasia” หมายถึงการทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบตามความประสงค์ของผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีอยู่( competent patient )โดยผู้ป่วยอาจแสดงเจตนาดังกล่าวนี้ไว้ล่วงหน้าก็ได้แม้ต่อมาจะอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแสดงแสดงเจตนาได้(การแสดงเจตนาในกรณีหลังนี้เรียกว่า advance directive)
            “involuntary euthanasia” หมายถึงการทำให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบโดยขัดต่อความประสงค์ของผู้ป่วย( ผู้ป่วยอยากให้แพทย์ทำการยืดชีวิตของเขาต่อไปอีก)
            “non-voluntary euthanasia” หมายถึงการทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ(incompetent patient ) ตายอย่างสงบโดยผู้ป่วยไม่เคยได้แสดงความประสงค์ในเรื่องนี้ไว้ก่อนเลย
นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com

เวชระเบียน

บังคับให้ผู้หญิงใช้นามสกุลสามีได้หรือ?

            บทความนี้เป็นเรื่องความเสมอภาคของความเป็นชายและหญิง ซึ่งได้บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา30 ต้องขอออกตัวว่าที่จริงผู้เขียนมีความรู้เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มากนัก แต่บังเอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นว่าน่าสนใจ จึงหาความรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง

อะไรคือ หลักความเสมอภาค
            หลักความเสมอภาค คือ การที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญที่เหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในการสอบเข้าเรียนชั้นประถม สาระสำคัญคือ ตัวเด็กที่สอบเข้าเรียนไม่ว่าหญิงหรือชายที่มีอายุ 6ปีซึ่งต้องถือว่ามีสาระสำคัญที่เหมือนกัน ดังนั้นในการสอบก็ต้องมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเช่น ต้องสอบวิชาเดียวกัน ข้อสอบเดียวกัน เวลาทำข้อสอบเท่ากัน แต่หากมีการเพิ่มคะแนนพิเศษเพราะว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของที่บริจาคเงินให้โรงเรียน ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญที่เหมือนกันอย่างไม่เท่าเทียมกัน
            อาจมีผู้สงสัยว่า แล้วอะไรเล่าที่จะถือว่า เป็น สาระสำคัญที่แตกต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนมีรายได้น้อย กับคนที่มีรายได้มากนั้นถือว่ามีสาระสำคัญต่างกันในแง่ของการเสียภาษี หลักการมีว่า เมื่อสาระสำคัญมีความแตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงสามารถกำหนดให้คนที่มีรายได้มากเสียภาษีมากกว่าคนที่มีรายได้น้อยได้
ในเรื่อง ความเสมอภาคของชายและหญิง รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันหมายความว่า ถ้าลำพังข้อเท็จจริงมีเพียงว่า ฝ่ายหนึ่งเป็นชาย อีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง ไม่ถือว่ามีความแตกต่างในสาระสำคัญ ตัวอย่างเช่น ชายและหญิงต่างเป็นพนักงานของธนาคารของรัฐ และต่างก็มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อเหมือนกัน ธนาคารจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเกษียณว่าให้พนักงานชายเกษียณที่อายุ 60 ปี แต่ให้พนักงานหญิงเกษียณเมื่ออายุ  55 ปี ไม่ได้  แต่ถ้าหากเรื่องนั้นมีเหตุผลทางกายภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจถือว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญได้ เช่นการเป็นทหารในหน่วยรบนั้นต้องการความแข็งแกร่งของร่างกาย ดังนั้นจึงมีเหตุผลที่จะกำหนดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่เป็นทหารในหน่วยรบได้

การบังคับให้หญิงใช้นามสกุลของสามีนั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
เนื่องจาก พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา12 บังคับให้หญิงที่มีสามี (มีการจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย) ต้องใช้นามสกุลของสามี ทำให้มีผู้เห็นว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวนั้นขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของหญิงทำให้หญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับชาย จึงได้มีการเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และในที่สุดได้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่21/2546 ซึ่งผู้เขียนขอตัดตอนบางส่วนมาสรุปได้ดังนี้
1) ถ้อยคำในมาตรา12แห่ง พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มีลักษณะเป็นการบังคับให้หญิงที่มีสามี ต้องใช้นามสกุลของสามี
2) สิทธิการใช้นามสกุล เป็นสิทธิของบุคคลที่จะแสดงเผ่าพันธุ์ เทือกเถาเหล่ากอของตน และเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นสิทธิของชายหรือหญิง
3) การบังคับให้หญิงที่มีสามี ต้องใช้นามสกุลของสามีนั้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิการใช้นามสกุลของหญิงนั้น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความไม่เสมอภาคกัน ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ดังนั้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้ .

 
นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย
www.medlawstory.com

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ภาพของท่าน สวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจน เราขออนุญาตนำภาพของท่านมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะคะ หากขัดข้องประการใด รบกวนโทร 089-1326770