หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รอบรู้เรื่อง "สิทธิผู้ิพิการ"

อย่างไรจึงเรียกว่า "คนพิการ"

“คนพิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนด 



ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ

        ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๗๗ ง กำหนดประเภทความพิการไว้ ๖ ประเภท ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
        ๑. ความพิการทางการเห็น ได้แก่ 
           ๑) ตาบอด หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็น เมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับแย่กว่า ๓ ส่วน ๖๐ เมตร(๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ลงมาจนกระทั่งมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๑๐ องศา
           ๒) ตาเห็นเลือนราง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการเห็นเมื่อตรวจวัดการเห็นของสายตาข้างที่ดีกว่า เมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้ว อยู่ในระดับตั้งแต่ ๓ ส่วน ๖๐ เมตร (๓/๖๐) หรือ ๒๐ ส่วน ๔๐๐ ฟุต (๒๐/๔๐๐) ไปจนถึงแย่กว่า ๖ ส่วน ๑๘ เมตร (๖/๑๘)หรือ ๒๐ ส่วน ๗๐ ฟุต (๒๐/๗๐) หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๓๐ องศา

        ๒. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ได้แก่
           ๑) หูหนวก หมายถึง การที่บุคคล การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยินจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน เมื่อตรวจการได้ยิน โดยใช้คลื่น ความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียง ๙๐ เดซิเบลขึ้นไป
           ๒) หูตึง หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องในการได้ยิน เมื่อตรวจวัดการได้ยิน โดยใช้คลื่นความถี่ที่ ๕๐๐ เฮิรตซ์ ๑,๐๐๐ เฮิรตซ์ และ ๒,๐๐๐ เฮิรตซ์ ในหูข้างที่ได้ยินดีกว่าจะสูญเสียการได้ยินที่ความดังของเสียงน้อยกว่า ๙๐ เดซิเบลลงมาจนถึง ๔๐ เดซิเบล
           ๓) ความพิการทางการสื่อความหมาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องทางการสื่อความหมาย เช่น พูดไม่ได้ พูดหรือฟังแล้วผู้อื่นไม่เข้าใจ เป็นต้น

        ๓. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ได้แก่
           ๑) ความพิการทางการเคลื่อนไหว หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือการสูญเสียความสามารถของอวัยวะในการเคลื่อนไหว ได้แก่ มือ เท้า แขน ขา อาจมาจากสาเหตุอัมพาต แขน ขา อ่อนแรง แขน ขาขาด หรือภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังจนมีผลกระทบต่อการทำงานมือ เท้า แขน ขา
           ๒) ความพิการทางร่างกาย หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีความบกพร่องหรือความผิดปกติของศีรษะ ใบหน้า ลำตัว และภาพลักษณ์ภายนอกของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจน

        ๔. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก ได้แก่
           ๑) ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์ หรือความคิด
           ๒) ความพิการทางออทิสติก หมายถึง การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ภาษาและการสื่อความหมาย พฤติกรรมและอารมณ์ โดยมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง และความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๒ ปีครึ่ง ทั้งนี้ ให้รวมถึงการวินิจฉัยกลุ่มออทิสติกสเปกตรัมอื่น ๆ 

        ๕. ความพิการทางสติปัญญา ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หรือมีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าบุคคลทั่วไป โดยความผิดปกตินั้นแสดงก่อนอายุ ๑๘ ปี

        ๖. ความพิการทางการเรียนรู้ ได้แก่ การที่บุคคลมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องในด้านการอ่านการเขียน การคิดคำนวณ หรือกระบวนการเรียนรู้พื้นฐานอื่นในระดับความสามารถที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามช่วงอายุและระดับสติปัญญา 





ดาวน์โหลดคู่มือ สิทธิประโยชน์ผู้พิการ



ดาวน์โหลด คู่มือสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช)


ดาวน์โหลด สิทธิประโยชน์ผู้พิการตามกฏหมายที่สำคัญ


*สิทธิคนพิการที่ควรรู้ 

*สวัสดิการเบี้ยความพิการ
    คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และได้ลงทะเบียนขอรับเบี้ยความพิการไว้แล้ว มีสิทธิได้รับเบี้ยความพิการ รายเดือน ๆ ละ ๕๐๐  บาท  ตลอดชีพ

*บริการให้กูยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
    คนพิการอายุ  ๒๐ – ๖๐  ปี และผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมาย สามารถกู้ยืมเงินทุนไปประกอบอาชีพ  รายละไม่เกิน  ๔๐,๐๐๐  บาท  ผ่อนชำระภายใน  ๕  ปี  ไม่คิดดอกเบี้ย  และมีข้าราชการ  ลูกจ้างประจำ  หรือบุคคลที่รายได้ประจำ  ที่มีเงินเดือน  ตั้งแต่  ๕,๐๐๐  บาทขึ้นไป  เป็นผู้ค้ำประกัน  ๑  คน  (ภายหลังจากทำสัญญากู้  ผู้ค้ำประกันถือเป็นลูกหนี้ร่วมกับคนพิการ และต้องรับผิดเช่นเดียวกับคนพิการ กรณีคนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการผิดนัดในการชำระหนี้)

*การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนพิการ
    ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างให้แก่คนพิการที่มีฐานะยากจน และไม่ได้รับความเป็นธรรม

*การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
   การปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยว การลำเอียง จากเหตุแห่งความแตกต่างของเพศ อายุ ศาสนา ภาษา สภาพความพิการ ฯลฯ รวมถึงการกระทำหรืองดเว้นการกระทบต่อคนพิการ แม้จะไม่ตั้งใจ แต่ผลของการกระทำนั้นทำให้คนพิการเสียประโยชน์ ก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

*การจัดบริการล่ามภาษามือ
     จัดให้บริการล่ามภาษามือสำหรับคนพิการทางการได้ยิน หรือสื่อความหมาย (การใช้บริการทางการแพทย์ การสมัครงาน หรือติดต่อประสานงานประกอบอาชีพ การร้องทุกข์ การประชุม)

*การปรับสภาพที่อยู่อาศัย
     ให้บริการปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการที่ยากจนเพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำรงชีวิตและปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันในที่อยู่อาศัยของคนพิการเอง เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ราวจับ การปรับพื้นผิวทางเดิน ฯลฯ

*การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ
    จัดให้บริการผู้ช่วยคนพิการให้กับคนพิการที่มีความจำเป็นต้องมีผู้ช่วยคนพิการ เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจวัตรที่สำคัญในการดำรงชีวิตได้ (พิการรุนแรง ไม่มีผู้ดูแลและมีฐานะยากจน)

*การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก
    การจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงได้ ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูล ฯลฯ
การลดหย่อนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ
     รถไฟฟ้า บีทีเอส (ลอยฟ้า) ฟรี ๗ สถานี , รถไฟฟ้าใต้ดิน ฟรีทุกสถานี , การบินไทยคนพิการลด ๕๐% ผู้ดูแลคนพิการลด ๒๕% , ขสมก.(พัดลม) ลดครึ่งราคาเฉพาะคนตาบอด , บขส. ลดครึ่งราคาเฉพาะคนตาบอด

*สิทธิคนพิการทางการแพทย์
     คนพิการที่มีบัตรทองผู้พิการ ท ๗๔ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว

*สิทธิคนพิการทางการศึกษา
     คนพิการมีสิทธิรับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนจนถึงปริญญาตรี

*สิทธิคนพิการทางอาชีพ
     คนพิการมีสิทธิเข้ารับบริการฝึกอบรมวิชาชีพแก่ในสาขาต่าง ๆ หลักสูตร  ๖  เดือน – ๑ ปี

*สิทธิประโยชน์ของผู้ดูแลคนพิการ
    ผู้ดูแลคนพิการ คือ บุคคลที่มีชื่อระบุอยู่ในบัตรประจำตัวคนพิการ / สมุดประจำตัวคนพิการ ว่าเป็นผู้ดูแลคนพิการ และต้องให้การอุปการะดูแลคนพิการนั้นจริง ๆ
ผู้ดูแลคนพิการมีสิทธิในเรื่องต่างๆ ได้แก่
- การบริการให้คำปรึกษา แนะนำ
- ฝึกอบรมทักษะการเลี้ยงดูคนพิการให้ได้มาตรฐาน
- การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
- การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ
- การทำงานในสถานประกอบการ
- การฝึกอาชีพ
- การสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ
- การให้สัมปทานหรือสถานที่จำหน่ายสินค้า
- การจัดจ้างแบบเหมางานและอื่นๆ
- การได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- การให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

*การจ้างงานคนพิการ
    นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ร้อยคนขึ้นไป ต้องรับคนพิการเข้าทำงานหนึ่งคน เศษของหนึ่งร้อยถ้าเกินห้าสิบคน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีกหนึ่งคน
(จ้าง – จัด – จ่าย)

*มาตรการภาษีเพื่อคนพิการ
    คนพิการมีเงินได้  และที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย  ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่เกิน  ๖๕  ปีบริบูรณ์  ได้รับลดหย่อนภาษีไม่เกิน  ๑๙๐,๐๐๐  บาท

*มาตรการภาษีเพื่อผู้ดูแลคนพิการ
    ผู้ดูแลคนพิการ  ที่มีชื่อระบุอยู่ในบัตรประจำตัวคนพิการ ได้รับลดหย่อนภาษีคนละ  ๖๐,๐๐๐  บาท
เอกสารที่ใช้ในการติดต่องานคนพิการ
๑. สำเนาทะเบียนบ้าน
๒. สำเนาบัตรประชาชน
๓. บัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมสำเนา




การขึ้นทะเบียนผู้พิการทำอย่างไร



 ขั้นตอนแรก  
- ไปพบแพทย์เพื่อประเมินความพิการและออกใบรับรองความพิการ (ทั้งนี้ แพทย์ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทุกคนที่ปฎิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐสามารถออกให้ได้ แต่แพทย์ที่ไม่รู้จักกฏหมายนี้อาจปฏิเสธ และแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จักษุแพทย์(หมอตา) แพทย์โสตนาสิก(หมอหู) จิตแพทย์ หรือกุมารแพทย์(หมอเด็ก) เป็นต้น             
 - กรณีที่มีความพิการที่เห็นได้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและออกใบรับรองความพิการ กรณีนี้เรียกว่า ความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ ได้แก่                                         

  • ไม่มีลูกตาทั้งสองข้าง ไม่มีลูกตาดำทั้งสองข้าง                            
  • ลูกตาสีขาวขุ่นทั้งสองข้าง ลูกตาฝ่อทั้งสองข้าง                          
  • หูหนวกเนื่องจากไม่มีรูหูทั้งสองข้าง                                        
  • แขนขาดตั้งแต่ระดับข้อมือขึ้นไป อย่างน้อยหนึ่งข้าง                     
  • ขาขาดตั้งแต่ระดับข้อเท้าขึ้นไป อย่างน้อยหนึ่งข้าง 


     ขั้นตอนต่อไป  - เตรียมเอกสารต่างๆดังนี้ ใบรับรองความพิการ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และรูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป                                                                    

  •  นำเอกสารทั้งหมดดังกล่าวไปยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกลาง สำนักงานทะเบียนจังหวัด หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ซึ่งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อจดทะเบียน และขอรับบัตรประจำตัวคนพิการ  ทั้งนี้ บัตรประจำตัวคนพิการมีอายุ ๖ ปี เมื่อหมดอายุแล้ว ต้องไปขอต่ออายุ และกรณีที่ต้องการขอสละสิทธิ์ ก็สามารถติดต่อขอสละสิทธิ์ดังกล่าวได้


http://tips-insurance4life.blogspot.com/2013/06/blog-post_12.html

ภาพของท่าน สวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจน เราขออนุญาตนำภาพของท่านมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะคะ หากขัดข้องประการใด รบกวนโทร 089-1326770