บทความนี้เป็นเรื่องความเสมอภาคของความเป็นชายและหญิง ซึ่งได้บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา30 ต้องขอออกตัวว่าที่จริงผู้เขียนมีความรู้เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่มากนัก แต่บังเอิญได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นว่าน่าสนใจ จึงหาความรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมแล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง
อะไรคือ “หลักความเสมอภาค”
หลักความเสมอภาค คือ การที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญที่เหมือนกันอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในการสอบเข้าเรียนชั้นประถม สาระสำคัญคือ ตัวเด็กที่สอบเข้าเรียนไม่ว่าหญิงหรือชายที่มีอายุ 6ปีซึ่งต้องถือว่ามีสาระสำคัญที่เหมือนกัน ดังนั้นในการสอบก็ต้องมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเช่น ต้องสอบวิชาเดียวกัน ข้อสอบเดียวกัน เวลาทำข้อสอบเท่ากัน แต่หากมีการเพิ่มคะแนนพิเศษเพราะว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของที่บริจาคเงินให้โรงเรียน ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญที่เหมือนกันอย่างไม่เท่าเทียมกัน
อาจมีผู้สงสัยว่า แล้วอะไรเล่าที่จะถือว่า เป็น “สาระสำคัญที่แตกต่างกัน” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนมีรายได้น้อย กับคนที่มีรายได้มากนั้นถือว่ามีสาระสำคัญต่างกันในแง่ของการเสียภาษี หลักการมีว่า เมื่อสาระสำคัญมีความแตกต่างกัน ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงสามารถกำหนดให้คนที่มีรายได้มากเสียภาษีมากกว่าคนที่มีรายได้น้อยได้
ในเรื่อง “ความเสมอภาคของชายและหญิง” รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” หมายความว่า ถ้าลำพังข้อเท็จจริงมีเพียงว่า ฝ่ายหนึ่งเป็นชาย อีกฝ่ายหนึ่งเป็นหญิง ไม่ถือว่ามีความแตกต่างในสาระสำคัญ ตัวอย่างเช่น ชายและหญิงต่างเป็นพนักงานของธนาคารของรัฐ และต่างก็มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อเหมือนกัน ธนาคารจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเกษียณว่าให้พนักงานชายเกษียณที่อายุ 60 ปี แต่ให้พนักงานหญิงเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ไม่ได้ แต่ถ้าหากเรื่องนั้นมีเหตุผลทางกายภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจถือว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญได้ เช่นการเป็นทหารในหน่วยรบนั้นต้องการความแข็งแกร่งของร่างกาย ดังนั้นจึงมีเหตุผลที่จะกำหนดให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่เป็นทหารในหน่วยรบได้
การบังคับให้หญิงใช้นามสกุลของสามีนั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
เนื่องจาก พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา12 บังคับให้หญิงที่มีสามี (มีการจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย) ต้องใช้นามสกุลของสามี ทำให้มีผู้เห็นว่า บทบัญญัติในมาตราดังกล่าวนั้นขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของหญิงทำให้หญิงมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับชาย จึงได้มีการเสนอเรื่องไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และในที่สุดได้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่21/2546 ซึ่งผู้เขียนขอตัดตอนบางส่วนมาสรุปได้ดังนี้
1) ถ้อยคำในมาตรา12แห่ง พ.ร.บ. ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มีลักษณะเป็นการบังคับให้หญิงที่มีสามี ต้องใช้นามสกุลของสามี
2) สิทธิการใช้นามสกุล เป็นสิทธิของบุคคลที่จะแสดงเผ่าพันธุ์ เทือกเถาเหล่ากอของตน และเป็นสิทธิที่ทุกคนมีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน โดยมิได้มีการแบ่งแยกว่าเป็นสิทธิของชายหรือหญิง
3) การบังคับให้หญิงที่มีสามี ต้องใช้นามสกุลของสามีนั้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิการใช้นามสกุลของหญิงนั้น ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความไม่เสมอภาคกัน ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ดังนั้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้ .
นพ.พิทูร ธรรมธรานนท์
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย www.medlawstory.com
พบ. นบ.
เนติบัณฑิตไทย www.medlawstory.com