หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความยินยอมของผู้ป่วยในการรักษาตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ

 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๘ ระบุเรื่องการให้ความยินยอมของผู้ป่วยในการรักษาทางการแพทย์มีเนื้อหาคือ แพทย์ที่ให้การรักษามีหน้าที่แจ้งข้อมูลที่เพียงพอ ในการตัดสินใจรับบริการด้านสาธารณสุขของผู้ป่วย (ผู้รับบริการ) หรือที่เรียกว่า หลักความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว (informed consent) หลักการในเรื่องนี้สอดคล้องกับหลักสากลคือปฏิญญาลิสบอนว่าด้วย “สิทธิผู้ป่วย” ของแพทยสมาคมโลก (The World Medical Association Declaration on the Rights of the Patient) ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองโดยอิสระ โดยแพทย์จะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงวัตถุประสงค์ของการตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดรักษา ผลที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้น ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจข้อมูล คำอธิบายนั้นด้วย ผู้ป่วยที่เข้าใจวิธีการรักษาแล้ว จะยินยอมให้แพทย์รักษาหรือไม่ก็ได้


สำหรับข้อความในวรรคสองของมาตรา ๘ ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการซึ่งรวมถึงแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดกับผู้รับบริการหรือผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่แจ้งข้อมูลที่รู้หรือควรแจ้งให้แพทย์ทราบนั้น ไม่สอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยสิทธิผู้ป่วยข้างต้น และไม่มีประเทศไหนที่บัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ ข้อความในวรรคสองนี้เกิดจากการผลักดันของแพทย์บางกลุ่มในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น สมควรที่จะพิจารณาตัดข้อความในวรรคสองของมาตรา ๘ ออกไป เพราะขัดต่อหลักกฎหมายและข้อเท็จริง กล่าวคือผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ย่อมไม่มีความรู้ทางการแพทย์ที่จะบอกข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับตนเองได้ ในทางกลับกันผู้ให้การรักษาต่างหากที่มีหน้าที่แจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบ เช่น ซักถามประวัติการแพ้ยา หรืออาการข้างเคียงที่สังเกตได้



มาตรา ๘ วรรคท้าย บัญญัติข้อยกเว้นในเรื่องการแจ้งข้อมูลเพื่อขอความยินยอมจากผู้ป่วย ๒ กรณีคือ (๑) มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แพทย์ก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยสันนิษฐานว่าผู้ป่วยให้ความยินยอมแล้ว และควรพิจารณาตามหลักประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย (the best interest of the patient) หรือ (๒) กรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจสื่อสารกับผู้อื่นได้ ก็ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจปกครองดูแลหรือญาติผู้ป่วยแทนได้ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วไป



กฎหมายเป็นเพียงกติกาที่ช่วยควบคุม กำกับความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย แต่หากแพทย์มีจิตวิญญาณมุ่งมั่นที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยเสมือนญาติพี่น้อง คนใกล้ชิดของตนแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายสุขภาพแห่งชาติมาตรานี้

โพสโดย somsak เมื่อ 1 กรกฎาคม 2553 00:00
Health Law 375 July.53  หมอชาวบ้าน ฉ.375 เดือนกรกฎาคม 2553   5.6.53 --- 7.6.53

https://www.doctor.or.th/article/detail/11009
ภาพของท่าน สวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจน เราขออนุญาตนำภาพของท่านมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะคะ หากขัดข้องประการใด รบกวนโทร 089-1326770