หน้าเว็บ

1.7.59

สิทธิในการตายดี ตายอย่างมีศักดิ์ศรี Living Will

จากมาตรา12  ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่บัญญัติไว้ว่า

" บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินตามหนังสือแสดงเจตนา ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง แล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความผิดทั้งปวง "


เจตนารมณ์ของผู้ร่าง   " เพื่อความเข้าใจอันดี เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย "

เหตุ ที่มาของมาตรา12 นี้ มาจากหลักสิทธิของมนุษย์ในการตัดสินใจเลือกการรักษาด้านสุขภาพ หลักศาสนาที่เน้นการตายโดยธรรมชาติ หลักกฎหมาย(และฎีกา) ในต่างประเทศ บทประกาศคำแถลงของแพทยสมาคมโลกและปฏิญญาด้านสิทธิผู้ป่วยของ WHO แต่อย่างไรก็ตามในการให้สิทธิการเลือกการตายในแต่ละประเทศยังไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจของสังคม หลักจริยธรรม ความเชื่อทั้งด้านวิชาการและจิตวิญญาณของแพทย์ และกฎหมายในแต่ละประเทศ ในประเทศไทย เมื่อมีบัญญัติเป็นกฎหมายตามมาตรา 12 นี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ปรับทัศนคติของผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงของทุกส่วน.


เราควรมีความเข้าใจเบื้องต้นกันเสียก่อนว่า  "หนังสือแสดงเจตนา " (Living Will)
1. ต้องเป็นการกระทำล่วงหน้า.
2. ต้องเป็นวาระสุดท้ายของชีวิตจริงๆ.
3. ต้องตีความทำให้ชัดเจนกับคำว่า  "เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย".
4. ไม่ใช่ Active Euthanasia หรือ Mercy  Killing คือ การุณฆาต ช่วยให้ผู้อื่นฆ่าตัวตาย หรือทำให้ตายในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ และไม่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจริง อันผิดไปจาก " The Hippocratis Oath " และผิดไปจากหลักพุทธศาสนา.


มีคำที่ใช้กับปรัชญาของ ความตาย และ  การตาย อยู่มากมายโดยผู้รู้และผู้ศึกษาเกี่ยวกับการตายอยู่มากทั้งแพทย์ นักกฎหมาย พระ นักบวช ซึ่งเขียนไว้ในด้านศิลปะการตาย การตายอย่างสงบ การตายอย่างธรรมชาติ การเตรียมตัวตาย คงไม่พูดถึงในที่นี้ เนื่องจากไม่ใช่วัตถุประสงค์ แต่  อดที่จะเอ่ยถึงบทความ ของอาจารย์สันต์ หัตถีรัตน์ ไม่ได้ ซึ่งได้อ่านต้นฉบับของหนังสือที่กำลังจะตีพิมพ์บางส่วน เชื่อว่าท่านมีความรู้ลึก รู้จริง ขอให้ผู้สนใจติดตามในหนังสือของท่านได้ต่อไป.


แพทยสภาเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการทำความเข้าใจในการทำความชัดเจนของข้อกฎหมายเพื่อให้  ผู้ประกอบวิชาชีพได้มีความเข้าใจตรงกันทั้งประเทศ เพราะในร่างกฎกระทรวงที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่างไว้ ได้กำหนดกฎเกณฑ์ให้แพทย์ต้องรับหน้าที่ อันเนื่องจากสิทธิของผู้ป่วยไว้หลายกรณี จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการจัดสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552.


ผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 150 ประกอบด้วย แพทย์ผู้ปฏิบัติ, ศาล, อัยการ,ตัวแทนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ทนายความ, ตำรวจ ทุกท่านให้ความสนใจมาก เตรียมตัวมาอย่างดี มีการเปิดประเด็นอย่างกว้างขวาง และค่อนข้างเร้าใจทีเดียว มีความเห็นจากการปฏิบัติจริงและเสนอแนวทางไว้ด้วย ดังนี้ครับ

1. ผู้พิพากษาให้ความเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงนี้เกินกรอบที่กำหนดตามมาตรา 12 ที่ให้กำหนด      หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาฯ เท่านั้น ไม่ได้ให้กำหนดวิธีการทำหนังสือแสดงเจตนาตามในร่างกฎกระทรวงข้อ 2 โดยเฉพาะข้อ 2.2 กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้อื่นแสดงเจตนาแทนได้

2. อัยการให้ความเห็นว่า หลายประเด็นใน ร่างกฎกระทรวงนี้ เกินกรอบที่กำหนดตามมาตรา 12 โดยเฉพาะการระบุประเภทของบริการที่จะไม่รับตาม  ข้อ 2.1 ง และกฎหมายนี้ควรปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

3. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายกำหนดให้แพทย์ต้องเป็นผู้ตัดสินใจปฏิบัติเช่นนี้ ข้อวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาควรเป็นอำนาจของศาล มีความเห็นว่าแพทย์ควรปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

4. ความเห็นของแพทย์ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ ประสาทแพทย์ จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์ อาจารย์อาวุโสและกรรมการแพทยสภา มีความเห็นสรุปได้ดังนี้

4.1 ในทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาที่เกิดการรักษาเกินความจำเป็นในผู้ป่วยเหล่านี้เกิดจาก ความเข้าใจของแพทย์และคนทั่วไปเห็นว่าการรักษาดังกล่าว เป็นการรักษาอย่างถึงที่สุด ทางแก้ไขปัญหานี้จึงควรมีแนวทางปฏิบัติสำหรับแพทย์เป็นกรอบ  ปฏิบัติ ซึ่งเป็นมาตรฐานของแพทย์ในแต่ละสาขามีกำหนดอยู่แล้ว เมื่อได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น การมีกรอบเช่นนี้และแพทย์ได้ปฏิบัติตามกรอบนี้แล้วจะเป็นเกราะป้องกันทางกฎหมายได้ แพทย์ผู้ปฏิบัติงานจึงสามารถที่จะไม่ให้การรักษาเกินความจำเป็นต่างๆ ได้เห็นควรเสนอให้แพทยสภากำหนดกรอบดังกล่าวไว้ในข้อบังคับ แพทยสภาว่าด้วยจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต การมีมาตรา 12 ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว กลับสร้างภาระให้กับแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกข้อหาละเมิดตามกฎหมายได้ แม้ไม่มีบทกำหนดโทษไว้ก็ตาม เสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เมื่อครบการประกาศใช้ 5 ปี ให้ยกเลิกมาตรา 12 นี้.

4.2 กฎกระทรวงนี้ไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน และบุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาแล้ว การปฏิบัติของแพทย์ให้ดำเนินไปตามมาตรฐานวิชาชีพกำหนด การมีหนังสือดังกล่าวช่วยให้แพทย์ดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพได้โดยไม่ต้องพะวงปัญหาทางกฎหมาย ควรชะลอการออกกฎกระทรวงดังกล่าวพิจารณาแก้ไขในประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ.

4.3 รายละเอียดในกฎกระทรวงที่สมควรแก้ไข ได้แก่

(1) ข้อ 2.1 ง กำหนดให้ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ มีความเห็นว่าให้ตัดออก เนื่องจากในมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ มีกำหนดอยู่แล้วว่า การทำหัตถการใดควรทำหรือไม่อย่างไร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงควรให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์.

(2) ข้อ 3.5 กำหนดว่าผู้อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ให้หนังสือมีผลเมื่อผู้นั้นพ้นจากสภาพตั้งครรภ์ สูตินรีแพทย์มีความเห็นว่าให้ตัดออก เนื่องจากมีแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายที่ไม่เหมือนกัน ตามอายุครรภ์และพยาธิสภาพ จึงควรเป็นดุลยพินิจของแพทย์.


ในที่ประชุมแทบจะไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทุกคนเห็นด้วย เพียงแต่แนวทางปฏิบัติเท่านั้นที่จะเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้มาซึ่ง "หนังสือแสดงเจตนา" เนื่อง จากมีประเด็นของสังคม ประเด็นกฎหมาย ประเด็นความจริงแท้ของหนังสือนี้ ใครควรเป็นผู้รับรองหนังสือ ในที่ประชุมต้องการให้มีผู้รับรองหนังสือแสดงเจตนาโดยไม่ต้องเป็นแพทย์ เช่น ศาล, ทนายความ, หน่วยงานของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในการนี้ เพื่อให้แพทย์ได้มีเวลาพอที่จะดูแลผู้ป่วยอื่นที่เป็นภารกิจหลักซึ่งก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อแพทย์ได้เห็นหนังสือที่มีผู้รับรองเชื่อว่าไม่ปฏิเสธความต้องการของผู้ป่วยนั้น แต่อย่างไรก็ตามคงต้องอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์ผู้นั้นด้วย.


ท้ายที่สุด โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับปรัชญาการเลือกการตายของผู้ป่วยอย่างมีศักดิ์ศรีโดยสงบ ให้ผู้ป่วยตายตามธรรมชาติให้มากที่สุด เนื่องจากตนเองได้ศึกษาตามหลักธรรมของพุทธศาสนาอยู่บ้าง โดยพิจารณามรรค 8 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดสมาธิ และปัญญา และพิจารณาไตรลักษณ์  "ทุกขัง       อนิจจัง อนัตตา " โดยเฉพาะอนัตตา อันเป็นส่วนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยตนเอง หมายถึงไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สรรพสิ่ง บังคับไม่ได้ (หลวงพ่อธีร์) และยังพิจารณา เวทนา (สัตยา นารา โกเอ็นก้า) ความคิด (จิต) ตาม  "สติปัฏฐาน 4Ž เพื่อละวางกิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเท่ากับเตรียมตัว " ตายเสียก่อนตาย " (ท่านพุทธทาส) อยู่บ้างแล้ว.


สำหรับผู้ที่อยู่ในวาระสุดท้ายส่วนใหญ่ไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่ได้ฝึกฝนตนเองมาก่อน นอกจากจะ มีปัญหา ด้านกาย (รูป) และยังมีปัญหาด้าน จิตใจ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาใหญ่กว่าทางกายเสียอีก ด้วยเหตุนี้การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ต้องถูกขบคิด และต้องให้เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ป่วยด้วยจึงจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างจริงแท้ ร่างกฎกระทรวงต้องคำนึง ถึงบริบทที่สำคัญได้แก่ จริยธรรมแพทย์ วิชาการ สิทธิ ของความเป็นมนุษย์ ภาระงานของแพทย์ กฎหมาย ความเชื่อด้านปรัชญาทั้งของผู้ป่วยและแพทย์.

**อย่างไรเสียไม่ว่าจะมี  "หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข" หรือไม่ แพทย์ทุกท่านพึงทำความเข้าใจ ปรึกษากับญาติให้ชัดเจนก่อนการทำ Passive Euthanasia ทุกราย**.



สัมพันธ์ คมฤทธิ์ พ.บ.
เลขาธิการแพทยสภา


โพสโดย somsak เมื่อ 1 กันยายน 2552 00:00
https://www.doctor.or.th/clinic/detail/7932

ภาพของท่าน สวยงามและสื่อความหมายได้ชัดเจน เราขออนุญาตนำภาพของท่านมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมนะคะ หากขัดข้องประการใด รบกวนโทร 089-1326770