ข้อมูลประวัติสุขภาพผู้ป่วยมีความสำคัญในการรักษาพยาบาล ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การวางแผนการรักษา และยังมีประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพบริการของโรงพยาบาล (สถานพยาบาล)
ในต่างประเทศมีการศึกษาพบว่า การบันทึกเวชระเบียนที่ถูกต้องครบถ้วนยังมีส่วนช่วยลดปัญหาความไม่เข้าใจ การฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์อีกทางหนึ่ง และยังสามารถนำข้อมูลผู้ป่วยไปใช้ในการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย เมื่อมีการจัดทำข้อมูลเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลหรือระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพในภาพใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และความรู้ทางสถิติเข้ามาช่วย ก็จะช่วยวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของประชากร และการกำหนดทิศทางนโยบายสุขภาพของประเทศ
ในการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์
พ.ศ.๒๕๕๓ จัดโดยแผนงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพและภาคีเครือข่าย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ และจะเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ผมได้มีโอกาสเป็นผู้แทนกลุ่มเสนอต่อที่ประชุมในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพในยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนากลไกสนับสนุนด้านระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ
การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ (personal health information) เป็นสิทธิผู้ป่วยอย่างหนึ่ง ซึ่งแพทยสมาคมโลก (World Medical Association) รับรองไว้ในปฏิญญาลิสบอนว่าด้วยสิทธิผู้ป่วย โดยให้ความสำคัญใน ๒ เรื่องคือ
๑. สิทธิที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับตนเองที่อยู่ในเวชระเบียน และต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย การปกปิดข้อมูลของแพทย์หรือสถานพยาบาลบางแห่งเพราะระแวงว่าจะถูกฟ้องร้อง จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะในต่างประเทศถือว่าผู้ป่วยเป็นเจ้าของข้อมูล
๒. การรักษาความลับของข้อมูลประวัติการรักษาอย่างเหมาะสม จะเปิดเผยได้ต่อเมื่อผู้ป่วยยินยอม หรือเป็นกรณีจำเป็นด้านสุขภาพ มีคดีความที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องทราบข้อมูลนั้น หรือมีกฎหมายกำหนดไว้ให้เปิดเผยได้
ปัจจุบันหลักเกณฑ์เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพพบในกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.๒๕๔๒ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๒๕ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่หลักเกณฑ์เหล่านี้ยังขาดความสมบูรณ์ ไม่เป็นระบบ ดังนั้นเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๒ คณะรัฐมนตรีจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎร เนื้อหาของร่างกฎหมายนี้ครอบคลุมระบบจัดการข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในภาคเอกชน เช่น ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่รักษาตัวในสถานพยาบาลเอกชน (โรงพยาบาล คลินิก) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ รักษา การใช้ การเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วย สิทธิในข้อมูลของผู้ป่วย การรักษาความปลอดภัย
กล่าวโดยสรุปได้ว่าข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อตัวผู้ป่วย การให้บริการสาธารณสุข และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตสุขภาพของประชาชนโดยรวม
โพสโดย somsak เมื่อ 1 พฤษภาคม 2553 00:00
https://www.doctor.or.th/article/detail/10964